KM BSU

มหาวิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ

 เปิดเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเก่าแก่ ซึ่งเป็นงานมหามงคลที่คนไทยควรเรียนรู้ เผยเคยมีพระราชพิธีมาแล้ว 11 ครั้ง จากกษัตริย์ 9 พระองค์ ซึ่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวง ร.10 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12

 
          นับเป็นข่าวน่ายินดีของคนไทยทั้งประเทศ หลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 (อ่านข่าว : ในหลวง ร.10 โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4-6 พ.ค. 62)


          สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นพระราชพิธีเก่าแก่ เป็นงานมหามงคลที่คนไทยควรศึกษา โดยมีประวัติความเป็นมาดังนี้

          พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีสำหรับผู้ที่จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ หรือเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อรับรองฐานะความเป็นประมุขของรัฐอย่างเป็นทางการ 

          ปรากฏหลักฐานครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย สมัยที่พ่อขุนผาเมือง ได้อภิเษกให้พระสหายคือ พ่อขุนบางกลางหาว เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ครองกรุงสุโขทัย แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดการประกอบพระราชพิธี

          กระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัติ ได้ทรงทำพระราชพิธีนี้อย่างสังเขป เมื่อปี พ.ศ. 2325 ครั้งหนึ่งก่อน จากนั้นได้ทรงตั้งคณะกรรมการสอบสวนแบบแผนโดยถี่ถ้วน แล้วตั้งขึ้นเป็นตำรา จากนั้นก็ทรงพิธีบรมราชาภิเษกแบบเต็มพิธี ตามตำราอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2328 และได้ใช้เป็นแบบแผนตามตำรากับรัชกาลต่อมาจนถึงปัจจุบัน 

 
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Royal Archives of OHM
 

หากนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ได้มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้วจำนวน 11 ครั้ง ดังนี้

  1. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จำนวน 2 ครั้ง

  2. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จำนวน 1 ครั้ง

  3. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง

  4. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง

  5. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ครั้ง

  6. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ครั้ง

  7. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง

  8. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 1 ครั้ง


สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเป็นการประกอบพระราชพิธีครั้งที่ 12

          ทั้งนี้ หากพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใด มิได้ผ่านการพิธีบรมราชาภิเษก ถือว่าทรงเป็นพระเจ้าอยู่หัวยังไม่เต็มพระองค์ เครื่องยศและพระนามต่าง ๆ จะแตกต่างไปจากพระเจ้าอยู่หัวที่ผ่านการพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว เช่น จะไม่มีคำว่า "พระบาท" นำหน้าพระนาม จะมีแค่เพียงคำว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" โดยหลังประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ในวันที่เดียวกันนั้นของปีถัดไป จะกลายเป็นวันฉัตรมงคล

 
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพจาก วิกิพีเดีย
 
          สำหรับขั้นตอนการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยขั้นตอนหลักสำคัญ 5 ขั้นตอน ได้แก่


          ขั้นตอนที่ 1 พิธีเชิญน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญ มาเสกทำพระพุทธมนต์และน้ำเทพมนต์ เพื่อเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ซึ่งตักมาจากแม่น้ำสายสำคัญของประเทศ และมาตั้งพิธีเสกที่พุทธเจดียสถานและวัดสำคัญต่าง ๆ ประกอบด้วย

          1. แม่น้ำป่าสัก ณ ตำบลท่าราบ ไปทำพิธีเสกน้ำที่พระพุทธบาท อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในมณฑลประเทศที่ตั้งกรุงละโว้และกรุงศรีอยุธยา

          2. ทะเลแก้วและสระแก้ว แขวงเมืองพิษณุโลก ไปทำพิธีในพระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุ จ.พิษณุโลก อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีฝ่ายเหนือ

          3. น้ำโชกชมภู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง แขวงเมืองสวรรคโลก ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก อันเป็นมหาเจดียสถานโบราณราชธานีครั้งสมเด็จพระร่วง (ปัจจุบันอยู่ในเขต จ.สุโขทัย)

          4. แม่น้ำนครไชยศรี ที่ตำบลบางแก้ว ไปทำพิธีที่พระปฐมเจดีย์ เมืองนครไชยศรี อันเป็นโบราณมหาเจดีย์ตั้งแต่สมัยทวารวดี

          5. บ่อน้ำวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และน้ำบ่อปากนาคราช ในเมืองนครศรีธรรมราช ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีนครศรีธรรมราช

          6. บ่อทิพย์ เมืองนครลำพูน ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุหริภุญไชย อันเป็นมหาเจดียสถานในแว่นแคว้นโบราณราชธานีทั้งหลายในฝ่ายเหนือ คือ นครหริภุญไชย นครเขลางค์ นครเชียงแสน นครเชียงราย นครพะเยา และนครเชียงใหม่

          7. บ่อวัดธาตุพนม ทำพิธีเสกที่พระธาตุพนม เมืองนครพนม มณฑลอุดรอันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในประเทศที่ตั้งโบราณราชธานีโคตรบูรพ์หลวง

 
 

          นอกจากนี้ ยังได้ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งทำพิธี ณ วัดสำคัญในมณฑลต่าง ๆ อีก 10 มณฑล ได้แก่

          1. วัดบรมธาตุ เมืองชัยนาท มณฑลนครสวรรค์

          2. วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์

          3. วัดกลาง เมืองนครราชสีมา มณฑลนครราชสีมา

          4. วัดสีทอง เมืองอุบลราชธานี มณฑลอีสาน

          5. วัดยโสธร เมืองฉะเชิงเทรา มณฑลปราจีนบุรี

          6. วัดพลับ เมืองจันทบุรี มณฑลจันทบุรี

          7. วัดตานีนรสโมสร เมืองตานี มณฑลปัตตานี

          8. วัดพระทอง เมืองถลาง มณฑลภูเก็ต

          9. วัดพระธาตุ เมืองไชยา มณฑลชุมพร

          10. วัดพระมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี มณฑลราชบุรี

          รวมสถานที่ที่ทำน้ำอภิเษกทั้งหมด 17 แห่ง และน้ำอภิเษกนี้ ยังคงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนจากวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มาที่พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ และเพิ่มอีกแห่งหนึ่งที่บึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด จึงรวมเป็นที่ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกที่หัวเมืองมณฑลต่าง ๆ รวม 18 แห่ง ต่อมาพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เปลี่ยนจากพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ มาเป็นพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

 
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพจาก ไทยโพสต์
 

          ขั้นตอนที่ 2 พระราชพิธีจารึกดวงพระราชสมภพและพระบรมนามาภิไธยพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติลงพระสุพรรณบัฏ

          ขั้นตอนที่ 3 พระราชพิธีโสรจสรงพระมุรธาภิเษก รับน้ำพระพุทธมนต์และน้ำเทพมนต์ เพื่อสรงสนานพระองค์และสรงสนานพระเศียรด้วยสหัสธารา อันเป็นการชำระและบังเกิดสิริสวัสดิมงคลยิ่งโดยโบราณราชประเพณี

          ขั้นตอนที่ 4 พระราชพิธีถวายพระราชสมบัติอันบริบูรณ์ในพระราชอาณาจักร ประมวลเป็นประมาณมาทั้งอัฐทิศแด่พระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงรับไว้อภิรักษ์ และอภิบาลให้เป็นอาณาประโยชน์แก่พสกนิกร

          ขั้นตอนที่ 5 พระราชพิธีถวายดวงพระบรมราชสมภพ พระบรมนามาภิไธย พระมหาราชครูพราหมณ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ แสดงพระราชฐานะสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าโดยสมบูรณ์ ทรงรับเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ แล้วจึงมีพระราชดำรัสดังปฐมราชโองการ

          โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ในวันนั้นได้มีปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพจาก ไทยโพสต์
 

ขอบคุณข้อมูลจาก Kapook.com